วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แม่น้ำโขง ชี มูน

สุดยอดสายน้ำฉ่ำเย็น แม่น้ำโขง ชี มูน

          แม่น้ำโขง  คือสุดยอดแม่น้ำของอีสาน ข้อนี้คงไม่มีใครจะปฏิเสธได้ แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกในภาคเหนือที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นระยะทางสั้นๆ ก่อนจะออกจากประเทสไทยที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเดียวกัน จากนั้นแม่น้ำโขงจึงไหลกลับเข้าสู่ประเทศไทยอีกครั้งในแผ่นดินอีสาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย จากเชียงคาน แม่น้ำโขงก่อให้เกิดหาดทราบ โขดหิน และเกาะแก่งที่สวยงามมากมายหลากหลาย โดยเฉพาะที่อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย มีที่พักและรีสอร์ตมากหลายได้รับการจัดสร้างขึ้นไว้รองรับนักท่องเที่ยวผู้มาชมความสวยงามของแม่น้ำโขงที่นี่

          สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 เป็นสะพานนานาชาติแห่งแรกที่พาดข้ามไปบนแม่น้ำสายนี้ เชื่อมมิตรภาพสองฝั่งโขง ร้อยใจลาว-ไทยน้องพี่เข้าด้วยกัน จากสะพานมิตรภาพๆ แม่น้ำโขงก็ขยายตัวกว้างใหญ่ ทอดผ่านเมืองสองฟากฝั่งที่ล้วนเป็นเมืองสำคัญของสองประเทส เช่น เมืองบึงกาฬ เมืองบอลิคัน เมืองนครพนม และเมืองท่าแขก จนมาพบกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 จังหวัดมุกดาหาร จากนั้นแม่น้ำโขงก็ไหลต่อลงไปผ่านเมืองเขมราฐ ก่อให้เกิดแก่งหินที่สวยงามขึ้นอีกหลายชุดก่อนจะไปสุดท้ายออกจากประเทสไทยที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

          ระหว่างทางเดินของแม่น้ำโขงได้ก่อให้เกิดสิ่งดีๆ มากหลาย ประชาชนสองฟากฝั่งใช้แม่น้ำโขงเป็นแหล่งอาหาร แหล่งทำมาหากินด้านการเกษตรมากมาย ที่หน้าเมืองนครพนมและเมืองเวียงจันทน์เกิดเป็นหาดทรายกว้างใหญ่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามของทั้งสองประเทศ งานเทศกาลประเพณีที่เกี่ยวข้องกัยการท่องเที่ยว เช่น ประเพณีแข่งเรือ ประเพณีไหลเรือไฟ และปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคเกิดขึ้น ก่อให้เกิดการทางท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง


          แม่น้ำมูน  เป็นแม่น้ำสายกว้างใหญ่และยาวที่สุดในอีสาน เกิดขึ้นจากแนวทิวเขาสันกำแพงบางส่วน และทิวเขาพนมดงรักอีกบางส่วน แม่น้ำมูนไหลลงไปกลายเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำโขง ตรงจุดที่แม่น้ำมูนไหลลงแม่น้ำโขงเรียกว่าแม่น้ำสองสี เมืองโขงเจียม

          ส่วน แม่น้ำชี ต้นกำเนิดคือแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ แล้วไหลผ่านไปยังที่ราบตอนกลางของภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร แล้วไหลมาลงยังแม่น้ำมูนที่จังหวัดอุบลราชธานี ต่อจากนั้นจึงรวมกันไหลลงแม่น้ำโขงที่ปากมูลอีกต่อหนึ่ง


          ถึงตรงนี้ อ.ส.ท. เราจึงฟันธงไปได้เลยว่า สุดยอดแห่งแม่น้ำอีสาน จะมีแม่น้ำไหนเกินแม่น้ำโขง บวกกับลำน้ำสาขา แม่น้ำมูน แม่น้ำชี เป็นไม่มี...ฟันธง

อีสานก่อนประวัติศาสตร์

สุดยอดอีสานก่อนประวัติศาสตร์

          เหตุการณ์สนุกๆ อย่างเช่น การต่อสู้กันของไดโนเสาร์ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งแบ่งออกเป็นยุคต่างๆ มีชื่อภาษาอังกฤษเรียกยากๆ นั้น เป็นเหตุการณ์ที่นำมาจำลองและจัดแสดงสาธิต เป็นการให้ความรู้ความบันเทิง และได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากมายจนกลายเป็นจุดเด่นหนึ่งของการท่องเที่ยวอีสานไปแล้ว

          ประวัติศาสตร์ของอีสานเริ่มขึ้นตั้งแต่ยุกก่อนประวัติศาสตร์ มีการค้นพบซากกระดูกของไดโนเสาร์หลากพันธุ์หลายตระกูล ทั้งชนิดเนื้อและกินพืช โดยเฉพาะในเขตภาคอีสานตอนกลาง อันเป็นพื้นที่แถบเทืองเขาภูพาน จังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร ขอนแก่น นอกจากซากไดโนเสาร์ ยังมีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ภาพเขียนสีที่ผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น


          จากยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็คลี่คลายมาสู่ยุคแห่งตำนาน เรื่องราวของเมืองโบราณต่างๆ ที่ถูกทับซ้อนอยู่ด้วยเมืองสมัยใหม่ นิทานในประวัติศาสตร์อย่างอุสา-บารสท้าวปาจิตต์กับนางอรพิมพ์ และสังข์ศิลป์ไชย ล้วนแสดงให้เห็นถึงความเป็นบ้านเป็นเมืองในยุคก่อนของอีสาน ก่อนจะถึงช่วงแห่งการเผยแพร่เข้ามาของอารยธรรมขอม และมาสุดปลายทางที่การทิ้งร้างบ้านเมืองต่างๆ ออกไปด้วยเหตุผลที่ยังคงลี้ลับ ก่อนที่กลุ่มชนไทยลาวจะอพยพโยกย้ายกันข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาอยู่อาศัยในแผ่นดินที่เคยเจริญรุ่งเรืองอยู่ก่อนหน้าแล้ว และพลิกฟื้นผืนแผ่นดินอีสานให้กลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง


          ความเป็นดินแดนแห่งไดโนเสาร์นับว่าเป็นจุดเด่นที่สำคัญของการท่องเที่ยวอีสานทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ขึ้นมากมายหลายแห่ง แต่ละแห่งมีการจัดแสดงที่ทันสมัยสวยงาม ถ้าจะเทียบกับการค้นพบภาพวาดที่ผาแต้ม หรือลวดลายหม้อไหบ้านเชียงนับว่ามีจุดเด่นกันคนละด้าน แต่กับนักท่องเที่ยวชาวไทย ยังนับว่าไดโนเสาร์ได้เปรียบกว่า เพราะฉะนั้น ไดโนเสาร์จึงเป็นสุดยอดที่เหนือกว่าเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ใดๆ ของอีสานครับ

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

 อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อยู่ในท้องที่อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ประกอบด้วยภูเขา ที่มีธรรมชาติอันสวยสดงดงาม ที่ราบบนยอดภูกระดึงมีสังคมพืชเป็นสังคมของพืชเมืองหนาว ได้แก่ ป่าสนสองใบ ป่าสนสามใบ ป่าต้นเมเปิล (ไฟเดือนห้า) และพันธุ์ไม้ดอกที่สวยงาม เช่น กุหลาบป่า ม้าวิ่ง เอื้องคำหิน ดอกม่วนดักหงาย เป็นต้น ตลอดจนมีธรรมชาติ บรรยากาศ และทิวทัศน์ที่สวยงามหลายแห่ง มีเนื้อที่ประมาณ 348.12 ตารางกิโลเมตร หรือ 217,576.25 ไร่
• ลักษณะภูมิประเทศ ของภูกระดึง 
• สภาพทั่วไปของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นภูเขาหินทรายที่มีพื้นที่ราบบนยอดเขากว้างใหญ่สลับกับเนินเตี้ย ๆ ยอดสูงสุดคือ ภูกุ่มข้าว สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,350 เมตร เป็นแหล่งกำเนิดของลำน้ำพอง ซึ่งหล่อเลี้ยงเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนหนองหวาย ในจังหวัดขอนแก่น ยอดภูกระดึงประกอบไปด้วยป่าสนสลับป่าก่อและทุ่งหญ้า มีพันธุ์ไม้ดอก ไม้ใบ ขึ้นอยู่ทั่วไปตามบริเวณน้ำตก ลำธาร และลานหิน ซึ่งธรรมชาติได้สร้างสรรค์ไว้อย่างสวยงามยิ่ง
• พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า บนภูกระดึง 
• ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีหลายชนิด เช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบเขา และป่าสนเขา มีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ได้แก่ เต็ง รัง พลวง แดง มะค่า ยมหอม มะเกลือ ตะแบก สมอ รกฟ้า พญาไม้ สนสามพันปี จำปีป่า ทะโล้ เมเปิ้ล สนสองใบ และสนสามใบ ก่อชนิดต่าง ๆ ใน ทุ่งหญ้ามีพันธุ์ไม้ดอกที่สวยงาม ออกดอกบานสะพรั่งสลับกันไปตามฤดูกาล เช่น กุหลาบป่า เทียนน้ำ มณเฑียนทอง แววมยุรา กระดุมเงิน เทียมภู ส้มแปะ เง่าน้ำทิพย์ ดาวเรืองภู หยาดน้ำค้าง และกล้วยไม้ ซึ่งบางชนิดชอบขึ้นตามลานหิน ได้แก่ ม้าวิ่ง เอื้องคำหิน ส่วนไม้พื้นล่างมีเฟิร์น มอส โดยเฉพาะ ข้าวตอกฤาษี ซึ่งเป็นมอสขนาดใหญ่สวยงามที่สุดและมีอยู่เป็นจำนวนมาก 
ภูกระดึงได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุมเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศประกอบไปด้วยป่าไม้ ทุ่งหญ้าและลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าภูกระดึงมีหลายชนิด เช่น ช้าง เสือโคร่ง หมีควาย เลียงผา เก้ง กวาง หมูป่า ชะนี บ่าง พญากระรอก หมาไน ส่วนนกชนิดต่าง ๆ ที่พบเห็นได้แก่ นกกางเขนดง นกจาบกินอกลาย นกกระทาทุ่ง นกพญาไฟใหญ่ นกขมิ้นดง และมีเต่าชนิดหนึ่งซึ่งหาได้ยาก คือ เต่าปูลู หรือ “เต่าหาง” เป็นเต่าที่หางยาว อาศัยอยู่ตามลำธารในป่าเขาระดับสูงของประเทศไทย กัมพูชา และลาว




• แหล่งท่องเที่ยว
 อุทยานแห่งชาติภูกระดึง


 ผานกแอ่น อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 2 กิโลเมตร และห่างจากหลังแป 2.5 กิโลเมตร ผานกแอ่นเป็นลานหินเล็กๆมีสนขึ้นโดดเด่นริมหน้าผาต้นหนึ่ง เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่งดงามยิ่ง มองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างซึ่งเป็นท้องทุ่งและเทือกเขา เห็นผานกเค้าได้ชัดเจน ริมทางเดินใกล้ผานกแอ่นเป็นสวนหินมีดอกกุหลาบป่าขึ้นอยู่เป็นดงใหญ่ จะบานสะพรั่งเต็มต้นในเดือนมีนาคม - เมษายน   


 ผาหล่มสัก อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 9 กิโลเมตร เป็นลานหินกว้าง และมีสนต้นหนึ่งขึ้นชิดริมผาใกล้กับชะง่อนหินที่ยื่นออกไปในอากาศทางทิศใต้ บริเวณผาหล่มสักนี้มองเห็นทิวทัศน์เทือกเขาสลับซับซ้อนในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ และเป็นจุดหนึ่งที่จะชมพระอาทิตย์ตกได้อย่างชัดเจนที่สุด บรรดาช่างภาพ สื่อมวลชน นิยมไปถ่ายภาพ ณ จุดนี้กันมาก เพราะยามตะวันตกดินจะเกิดทัศนียภาพที่งดงามมาก 



 สระแก้ว อยู่ในส่วนต้นน้ำของลำธารสวรรค์ “ธารสวรรค์” ลักษณะเป็นวังน้ำลึกขนาดไม่กว้างนัก น้ำใสมากจนมองเห็นพื้นหินขาวสะอาด ต่อจากบริเวณสระแก้วมีทางเดินชมธรรมชาติผ่านลานหินซึ่งมีดอกหรีสีม่วงอมน้ำเงินเกสรสีเหลือง ขึ้นอยู่เป็นทุ่งไปจนถึงผาน้อยนาน้อย 
 สระอโนดาด เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่มีต้นสนขึ้นเป็นแนวแน่นขนัด ตามริมสระตอนปากธารน้ำไหลมีลานหินโผล่ขึ้นมา ยามน้ำน้อยสามารถไปนั่งเล่น ได้จากบริเวณสระอโนดาดยังมีทางเดินไปต่อบรรจบกับเส้นทางเดินเท้าสู่ถ้ำสอและถ้ำน้ำได้ 

 น้ำตกเพ็ญพบใหม่ เกิดจากลำธารวังกวาง น้ำตกผ่านผาหินรูปโค้ง ในหน้าหนาว ใบเมเปิ้ลที่อยู่บริเวณริมน้ำตกจะร่วงหล่นลอยไปตามผิวน้ำยามแดดสาดส่องผ่านลงมาจะเป็นสีแดงจัดตัดกับสีเขียวขจีของตะไคร่น้ำตามโขดหิน ลำธารวังกวางเป็นต้นกำเนิดน้ำตกที่มีชื่ออีกแห่งหนึ่ง คือ น้ำตกโผนพบ ซึ่งตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ โผน กิ่งเพชร นักชกแชมป์เปี้ยนโลกคนแรกของชาวไทยในฐานะเป็นผู้ค้นพบคนแรก เมื่อคราวที่ขึ้นไปซ้อมมวยให้ชินกับอากาศหนาว ก่อนเดินทางไปชกในต่างประเทศ



 น้ำตกตาดร้อง เกิดจากลำน้ำพอง ซึ่งไหลลงมาจากภูกระดึงด้านหุบเขาตะวันตกเฉียงเหนือ สองฝั่งของตาดร้องเป็นผาหินสูงชันมาก เมื่อน้ำตกผ่านผาหินกว้างที่ลดหลั่นเป็นชั้น ๆ จึงทำให้เกิดเสียงดังกึกก้อง จากบริเวณน้ำตกมองเห็นแนวภูเขาเปลือยขวางอยู่ข้างหน้าน้ำตกตาดร้องอยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 20 กิโลเมตร 
 น้ำตกวังกวาง เป็นน้ำตกอยู่ใกล้กับที่พักมากที่สุดในบรรดาน้ำตกบนภูกระดึง ระยะทางเพียง 750 เมตร จากจุดเริ่มต้นตรงบริเวณบ้านพัก ลักษณะน้ำตกเป็นผาหินไม่สูงนัก ตัดขวางลำธาร ธารน้ำก็ไหลลดขึ้นลงยังวังน้ำเบื้องล่าง ซึ่งมีลักษณะคล้ายโพลงถ้ำมุดลงไปและบริเวณป่าใกล้ ๆ ก็เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงกวางมักจะลงมากินน้ำอยู่เสมอ ๆ จึงเรียกน้ำตกอย่างน่าเอ็นดูว่า “น้ำตกวังกวาง” สูง 7 เมตร บริเวณน้ำตกมีที่กว้างขวางให้ได้นั่งพักสบาย ๆ หลายมุม 
 น้ำตกถ้ำใหญ่ ห่างจากน้ำตกเพ็ญพบ ประมาณ 1 กิโลเมตร เส้นทางเดินไปสู่น้ำตกจะดูใกล้นิดเดียวสำหรับคนชอบธรรมชาติ ชมนกชมไม้ เพราะตลอดเส้นทางครอบคลุมไปด้วยป่าดิบเขาที่มีพรรณไม้ใหญ่และร่มครึ้มกว่าทุกเส้นทางน้ำตกอื่น ๆ อาจได้พบต้นส้มกุ้ง (Begonice sp.) ออกดอกเป็นสีชมพู เกสรกลางสีเหลือง ชอบขึ้นตามทางในพื้นที่สูงอย่างป่าดงดิบเขา ในเส้นทางถ้ำใหญ่นี้มีทางเดินบางช่วงที่เลียบข้างลำห้วยเล็ก ๆ มีต้นเมเปิ้ลอยู่เป็นระยะ ๆ หากช่วงต้นมกราคม เส้นทางนี้จะแดงฉานด้วยใบเมเปิ้ลที่ร่วงหล่นเกลื่อนพื้นป่า ความสวยงามของน้ำตกถ้ำใหญ่จะแปลกตาด้วยโขดหินมหึมาวางทับซ้อนไม่เป็นระเบียบ ลำธารนี้ขนาบข้างด้วยต้นเมเปิ้ล ยามเมเปิ้ลแดงล่วงหล่น ขัดสีให้ลำธารหินเขียวสวยงามมีสีสันและมีชีวิตชีวาขึ้นมามากนักเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว 
 น้ำตกธารสวรรค์ จากน้ำตกถ้ำใหญ่เมื่อออกสู่ป่าสนไม่ไกลนักจะมีทางแยกบนลานหินสู่น้ำตกธารสวรรค์ ซึ่งอยู่ห่างจากที่พักตามเส้นทางป่าสนผ่านลานองค์พระพุทธเมตตาเพียง 1.6 กม. เท่านั้น เป็นน้ำตกขนาดเล็ก 
 น้ำตกโผนพบ เป็นหนึ่งในน้ำตกหลายจุดอันเกิดจากสายน้ำวังกวาง ห่างจากตัวน้ำตกเพ็ญพบใหม่เพียง 600 เมตรเท่านั้น ในส่วนของลำธารส่วนบนของน้ำตกโผนพบนี้ สามารถไปยืนชมตัวน้ำตกกลางลำธารซึ่งจะได้ชมทิวทัศน์ที่สวยงาม น้ำตกมี 8 ชั้น สูงประมาณ 30 เมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงามไม่น้อยบนภูเขานี้ สำหรับชื่อ “โผนพบ” เข้าใจว่า โผน กิ่งเพชร อดีตแชมป์โลกคนแรกของไทยเป็นผู้ค้นพบเมื่อครั้งขึ้นไปซ้อมร่างกายบนภูกระดึง จึงเรียกกันง่าย ๆ ว่า “โผนพบ” 
 น้ำตกพระองค์ คล้ายกับน้ำตกถ้ำใหญ่ แต่เป็นน้ำตกขนาดเล็กกว่า เกิดจากลำธารพระองค์ไหลเป็นลำธารเล็กๆ แล้วดิ่งตกลงหน้าผาที่ไม่สูงมากนักมุ่งสู่หินเบื้องล่าง ลำธารพระองค์นี้เป็นลำห้วยเล็ก ๆ ที่ไหลจากสระอโนดาด สระน้ำกลางป่าสนซึ่งไม่เคยเหือดแห้ง จึงมีน้ำไหลตลอดปี
 น้ำตกสอเหนือ เป็นน้ำตกขนาดกลาง สูง 10 เมตร ชั้นเดียว เกิดจากการพังทลายของแผ่นดินขนาดใหญ่เช่นเดียวกับน้ำตกหลายแห่ง ผาหินคล้ายน้ำตกเพ็บพบใหม่ มีสายน้ำไหลกลายเป็นบริเวณกว้าง 
 น้ำตกสอใต้ อยู่ในลำธารสายเดียวกับน้ำตกสอเหนือและอยู่ไม่ไกลกันนัก เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่เกิดจากหน้าผาหินถล่มลงไป สภาพภูมิประเทศไม่ได้อำนวยให้เกิดเป็นชั้นน้ำตกเหมือนแห่งอื่น ๆ จึงอยู่นอกเหนือความนิยมของนักท่องเที่ยว
• สิ่งอำนวยความสะดวก บนภูกระดึง 
อุทยานแห่งชาติภูกระดึงได้จัดบ้านพักและเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว
• การเดินทาง สู่ภูกระดึง
• รถไฟ จากกรุงเทพมหานครโดยสารรถไฟไปลงที่ขอนแก่น จากนั้นโดยสารรถประจำทางสายขอนแก่น-เลย ไปยังหน้าตลาดที่ว่าการอำเภอภูกระดึง แล้วต่อรถเมล์เล็กเดินทางต่อไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นปีนเขาขึ้นยอดภู จากนั้นต้องเดินเท้าอีก 5 กิโลเมตร จึงจะถึง “หลังแป” แล้วเดินเท้าไปตามทุ่งหญ้าอีก 4 กิโลเมตร ก็จะถึงที่พักบนยอดภูกระดึงทางอุทยานฯ ได้จัดลูกหาบสัมภาระของนักท่องเที่ยวขึ้นไปบนยอดภูกระดึง คิดค่าบริการเป็นกิโลกรัม
• รถประจำทาง โดยสารรถยนต์จากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต) กรุงเทพมหานคร ไปลงที่ ผานกเค้า แล้วโดยสารรถประจำทางไปลงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จากนั้นก็เดินต่อขึ้นไปยอดภูกระดึง